๑๓. แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเร เป็นต้น ความว่า เหล่าชนผู้ทำความแตกร้าว ยกบัณฑิตทั้งหลายเสีย คือพวกอื่นจากบัณฑิตนั้น ชื่อว่าชนพวกอื่น,
ชนพวกอื่นนั้น ทำความวุ่นวายอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมไม่รู้สึกตัวว่า “เราทั้งหลายย่อมย่อยยับ คือป่นปี้ ฉิบหาย ได้แก่ ไปสู่ที่ใกล้ คือสำนักมฤตยูเป็นนิตย์.”

บาทพระคาถาว่า เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดผู้เป็นบัณฑิตในหมู่นั้น ย่อมรู้สึกตัวว่า “เราทั้งหลายไปสู่ที่ใกล้มฤตยู.”

บาทพระคาถาว่า ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ความว่า ชนเหล่านั้นรู้อยู่อย่างนี้แล ยังการทำความในใจโดยอุบายที่ชอบให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อสงบความหมายมั่น คือความทะเลาะกัน, เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมายมั่นเหล่านั้นย่อมสงบ เพราะความปฏิบัตินั้นของบัณฑิตเหล่านั้น.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอธิบายในพระคาถานี้ อย่างนี้ว่า

    “คำว่า ปเร จ เป็นต้น ความว่า ชนทั้งหลาย แม้อันเรา (ตถาคต) กล่าวสอนอยู่ว่า
    ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ทำความแตกร้าวกัน’
    ดังนี้เป็นต้น ในกาลก่อน ก็ไม่นับถือ เพราะไม่รับโอวาทของเรา ชื่อว่าชนพวกอื่น.
    ชนพวกอื่นนั้นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า ‘เราทั้งหลายถือผิด ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ย่อมย่อยยับ
    ได้แก่พยายามเพื่อความเจริญแห่งเหตุอันทำความพินาศ มีแตกร้าวกันเป็นต้น ในท่ามกลางสงฆ์นี้.’
    แต่บัดนี้ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่าใด ในระหว่างแห่งเธอทั้งหลายนั้น พิจารณาอยู่รู้ชัดว่า
    ‘เมื่อก่อนเราทั้งหลายพยายามอยู่ ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ปฏิบัติโดยไม่ชอบแล้ว’
    ความหมายมั่นที่นับว่าความทะเลาะกันในบัดนี้เหล่านี้ ย่อมสงบจากสำนักบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นๆ
    คือเพราะอาศัยบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.”

ในกาลจบคาถา ภิกษุผู้ประชุมกันได้ดำรงอยู่ในอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี จบ.