๑๒. ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทูลขอขมาพระศาสดา

ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีสดับว่า “ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จถึงกรุงสาวัตถีแล้ว” ได้ไป ณ ที่นั้นเพื่อจะกราบทูลขอขมาพระศาสดา.
พระเจ้าโกศลทรงสดับว่า “ได้ยินว่า พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้นมาอยู่” จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน.”

พระศาสดาตรัสตอบว่า “ดูก่อนมหาราช ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีศีล, แต่ไม่ถือเอาคำของอาตมภาพ เพราะวิวาทกันและกันเท่านั้น, บัดนี้ เธอทั้งหลายมาเพื่อขอขมาอาตมภาพ, ดูก่อนมหาราช ขอภิกษุเหล่านั้นจงมาเถิด.”

ฝ่ายท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่วิหาร” ดังนี้แล้ว ถูกพระศาสดาทรงห้ามเสียเหมือนอย่างนั้น ได้นิ่งแล้ว.

ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประทานเสนาสนะ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำให้เป็นที่สงัดแก่เธอทั้งหลาย. ภิกษุเหล่าอื่นไม่นั่ง ไม่ยืน ร่วมกับภิกษุพวกนั้น.

พวกชนผู้มาแล้วๆ ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหน ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น?” พระศาสดาทรงแสดงว่า “พวกนั่น.” ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเหล่านั้นถูกพวกชนผู้มาแล้วๆ ชี้นิ้วว่า "ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น,

ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น” ดังนี้ ไม่อาจยกศีรษะขึ้น เพราะความอาย ฟุบลง แทบบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทำกรรมหนักแล้ว, ชื่อว่าเธอทั้งหลายแม้บวชแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา, เมื่อเราทำความสามัคคีอยู่, ไม่ทำ (ตาม) คำของเรา, ฝ่ายบัณฑิตอันมีในปางก่อน สดับโอวาทของมารดาและบิดาผู้ต้องประหารชีวิต, เมื่อบิดามารดานั้นแม้ถูกปลงชีวิตอยู่, ก็ไม่ล่วงโอวาทนั้น ภายหลังได้ครองราชสมบัติใน ๒ แว่นแคว้น” ดังนี้แล้ว

ตรัสทีฆาวุกุมารชาดก๑- อีกเหมือนกันแล้ว ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุกุมาร ถึงเมื่อพระชนนีและพระชนกถูกปลงชีวิตอยู่อย่างนั้น,
ก็ไม่ก้าวล่วงโอวาทของพระชนนีและพระชนกเหล่านั้นแล้ว
ภายหลังได้ธิดาของพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในแว่นแคว้นกาสีและแว่นแคว้นโกศลทั้งสองแล้ว.

ส่วนพวกเธอทั้งหลายไม่ทำ (ตาม) คำของเรา ทำกรรมหนัก” ดังนี้แล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า

    ๕. ปเร จ น วิชานนฺติ มยเมตฺถ ยมามฺหเส
    เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ตโต สมฺมนฺติ เมธคา.
    “ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า ‘พวกเราพากันย่อยยับอยู่ใน
    ท่ามกลางสงฆ์นี้’ ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้นย่อมรู้ชัด,
    ความหมายมั่นกันและกัน ย่อมสงบเพราะการปฏิบัติ
    ของชนพวกนั้น.”

____________________________
๑- ขุ. ปัญจก. ๒๗/๘๐๓; อรรถกถา. ๔/๔๙๕