๑๐. ไม่ได้สหายที่มีปัญญาเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า

จริงอยู่ ชนผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร ย่อมไม่วางบริขารของตนไว้บนที่นั่งหรือบนที่นอนของครู. พระยาช้างนั้นเห็นอาการนั้น ได้เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว.
พระเถระอภิวาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสถามว่า “อานนท์ เธอมาผู้เดียวเท่านั้นหรือ?” ทรงสดับความที่พระเถระเป็นผู้มาพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ แล้วตรัสว่า “ก็ภิกษุเหล่านั้น อยู่ที่ไหน?” เมื่อพระเถระทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงพักเธอทั้งหลายไว้ข้างนอกมาแล้ว (แต่รูปเดียว)” ตรัสว่า “เรียกเธอทั้งหลายมาเถิด” พระเถระได้ทำตามรับสั่งแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นมาถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายแล้ว.

เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม และเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จยืนและประทับนั่งพระองค์เดียวตลอดไตรมาส ทำกิจที่ทำได้ด้วยยาก, ผู้ทำวัตรและปฏิวัตรก็ดี ผู้ถวายน้ำสรงพระพักตร์ก็ดี ชะรอยจะมิได้มีแล้ว”,

ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเรา อันพระยาช้างปาริเลยยกะทำแล้ว ก็อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้ อยู่ด้วยกันควรแล้ว, เมื่อไม่ได้สหาย(เห็นปานนี้) ความเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า” ดังนี้แล้ว ได้ภาษิต ๓ คาถาใน นาควรรค เหล่านี้ว่า :-

    ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำ
    มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ไว้เป็นผู้เที่ยว
    ไปด้วยกันไซร้, (บุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนั้น) ควรมีใจยินดี
    มีสติ ครอบงำอันตรายซึ่งคอยเบียดเบียนรอบข้างทั้งปวงเสีย
    แล้ว เที่ยวไปกับสหายนั้น, ถ้าบุคคลไม่ได้สหาย ผู้มีปัญญา
    รักษาตน มีปัญญาทรงจำ มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์
    ให้สำเร็จไว้ เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้, บุคคลนั้นควรเที่ยวไป
    คนเดียว เหมือนพระราชาผู้ละแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชำนะ
    แล้ว เสด็จอยู่แต่องค์เดียว, (และ) เหมือนพระยาช้างอันชื่อว่า
    มาตังคะเที่ยวอยู่ในป่าแต่เชือกเดียว, การเที่ยวไปผู้เดียว
    ประเสริฐกว่า ความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล, บุคคลผู้
    ไม่ได้สหายเห็นปานนั้น ควรมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้
    เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย, เหมือนพระยาช้างชื่อ
    มาตังคะผู้มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่เชือกเดียว
    และหาได้ทำบาปไม่.”

ในกาลจบคาถา ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ รูป ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว.

พระอานนทเถระกราบทูลสาสน์ที่ตระกูลใหญ่ๆ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นต้นส่งมาแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวก ๕ โกฏิ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นหัวหน้า หวังความเสด็จมาของพระองค์อยู่.”

พระศาสดาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงรับบาตรจีวร” ดังนี้แล้ว ให้พระเถระรับบาตรจีวรแล้ว เสด็จออกไป. พระยาช้างได้ไปยืนขวางทางไว้. ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระยาช้างทำอะไร?”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ช้างหวังจะถวายภิกขาแก่เธอทั้งหลาย, ก็แลช้างนี้ได้ทำอุปการะแก่เราตลอดราตรีนาน, การยังจิตของช้างนี้ให้ขัดเคืองไม่ควร, ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายกลับเถิด.” พระศาสดาทรงพาภิกษุทั้งหลายเสด็จกลับแล้ว.

ฝ่ายช้างเข้าไปสู่ราวป่าแล้ว รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมาทำให้เป็นกองไว้, ในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจฉันผลไม้ทั้งหลายให้หมดสิ้น. ในกาลเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไปแล้ว. พระยาช้างไปตามระหว่างๆ แห่งภิกษุทั้งหลาย ยืนขวางพระพักตร์พระศาสดาไว้. ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างนี้ทำอะไร? ”

    ศ. ภิกษุทั้งหลาย ช้างนี้จะส่งพวกเธอไปแล้ว ชวนให้เรากลับ.
    ภ. อย่างนั้นหรือ? พระองค์ผู้เจริญ.
    ศ. อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.