๕. ของจริง

ยามสุข ให้รู้จักพอ พอที่ใจ ไม่ใช่พอที่ปาก
รู้จักพอ ใจต้องสงบเฉย ดิ้นรน พอไม่เป็น
ยามทุกข์ให้รู้จัก รับได้ ทนได้ ยิ้มได้
รับได้ ใจต้องสุข ติดเศร้า รับไม่เป็น
หนีไม่พ้น สุขหรือทุกข์ ต้องเจอทั้งสองอย่าง
เราผูกพัน ยึดติด หรือต่อต้าน
พอใจ เสียใจ ในตัณหาอุปาทาน
ทุกสิ่งเป็นไป ตามวิถีของสุขทุกข์
เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นธรรมชาติ
เรียนรู้ให้เข้าใจ ยอมรับ แล้วทำใจ
เบื้องต้น รู้จักพอ รับได้ ทนได้ ยอมรับ
ฝึกใจให้สงบ สงบทุกข์ สงบสุข
ถอนความผูกติด ยึดติด ปล่อยไปตามธรรมชาติ
เห็นธรรมดา สรรพสิ่ง เปลี่ยนไป
ใจเปิดกว้าง สร้างแรงใจ ให้เข้มแข็ง
ยืนหยัดตั้งมั่น ลดละกิเลส
ไม่ท้อไม่ถอย ไม่อ่อนแอ
เป้าหมายกำหนดให้แน่ชัด
เดินไปให้ถึงเป้าหมาย ช้าเร็วก็ต้องถึง
หนทางเดินนั้น ต้องดี คือองค์มรรค
รวมความคือ ตั้งใจดี คิดดี พูดดี ทำดี
หนทางเดิน ย่อมมีอุปสรรคทุกคน
เหตุการณ์ ประสบการณ์ จะเป็นผู้สอนเรา
ถ้าเราตั้งใจดี ประสบการณ์นั้น สอนให้เราฉลาด
ถ้าเราใจเสีย เหตุการณ์นั้น ทำให้เราโง่เขลา
จงเตือนตนเสมอ อย่าเผลอขาดสติ
ตั้งดีให้นำหน้า อย่ากลัวปัญหา
ฟันฝ่าอุปสรรคไป ชนะบ้างแพ้บ้าง ไม่เป็นไร
สำคัญอย่าแพ้ใจตัวเอง ใจอย่าแพ้
เหตุการณ์จะแพ้ ไม่เป็นไร ใจห้ามแพ้
ยามชนะ ไม่หลงระเริง สร้างความมั่นใจ
สร้างความภูมิใจ ในตัวเรา ที่มีดี
อุปสรรคเล็ก ๆ ไม่สามารถหยุดเราได้ เปลี่ยนแปลงเราได้
แม้อุปสรรคใหญ่ก็ไม่สามารถทำให้เราเปลี่ยนใจ
ถึงแม้จะเซไปบ้าง แต่ไม่ล้ม เรายืนหยัดอยู่ได้
เราตั้งหลักสู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้แก่กิเลสมาร
สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง เราทำใจได้
ยามเข้มแข็งกิเลสหลบหน้า ใจเราฮึกเหิม
ยามจิตอ่อนแอ กิเลสโผล่หน้ามา ทุบเราจนสิ้นท่า
กิเลสหลบหน้า อย่าคิดว่าเราชนะ กิเลสแค่พักตัว
เราต้องเผชิญกิเลสได้ทั้งสองด้าน ยามสุขสมหวัง ยามทุกข์ผิดหวัง
ยามมี เราไม่กลัวจน ทำใจหยุดได้พอได้
ยามหมด ไม่มี ไม่พอ กิเลสชอบชวนเราไป
ตั้งหลักให้ดี อย่าให้กิเลสนำทางเรา
เราต้องจัดการบริหารตัวเราให้พอเพียงพอดีในสภาพ
ใช้ความดีขององค์มรรคเป็นเครื่องนำทางให้มุ่งดี
ตั้งใจดี คิดดี พูดดี ทำดี เป็นแนวปฏิบัติดี
วิถีของมรรคผล ดำเนินไปตามนี้
ทุกยุคทุกสมัย ไม่เปลี่ยนแปลง
ตัวเราก็อยู่ในระบบวงจรนี้ด้วย
เห็นทุกข์ภัยในวัฏฏะ หมดสนุกคลุกเคล้า
จำเจซ้ำซาก ไม่จบสิ้น ในวัฏฏะ
โชคดีพระชี้บอก ทางออกพ้นวัฏฏะ
ปฏิบัติตามพระท่าน ได้ผลจริง