พระพาหิยทารุจีริยะ

ประวัติของพระพาหิยะ ผู้เป็นเลิศในทางตรัสรู้เร็ว

นำมาจาก www.tipitaka.com

พาหิยสูตร

๑๐. พาหิยสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ท่าสุปปารกะ
ใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า
เราเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก
ลำดับนั้นแล เทวดาผู้เป็นสายโลหิตในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ
เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะด้วยใจ
แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ
ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์หรือไม่
เป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคอย่างแน่นอน
ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์หรือ
เครื่องเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรค
พาหิยทารุจีริยะถามว่า
เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก
เทวดาตอบว่า ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับอยู่ในพระนครนั้น
ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน
ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย
ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเอง
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง ฯ

[๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
พาหิยทารุจีริยะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่
ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า
ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต
ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน
เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึก และความสงบอันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้ว ผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ

[๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน
เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี
ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด ฯ
แม้ครั้งที่ ๒...
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี
ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล
ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล
เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรด้วย พระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ฯ

[๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จ เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก
ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอ
กับท่านทั้งหลาย ทำกาละแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
ช่วยกันยกสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา
และทำสถูปไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายทำไว้แล้ว คติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว ฯ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทาน นี้ในเวลานั้นว่า
ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด
ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง
พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี
ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้ว ด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐

พาหิยเถราปทานที่ ๖ ว่าด้วยบุพจริยาของพระพาหิยเถระ

เล่มที่ ๓๓
[๑๒๖] ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระผู้มีพระภาคผู้นายกมีพระรัศมีใหญ่ เลิศกว่าไตรโลก มีพระนามชื่อว่าปทุมุตระได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระมุนีตรัสสรรเสริญคุณของภิกษุผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลันอยู่ เราได้ฟังแล้วก็ชอบใจ จึงได้ทำสักการะแด่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ถวายทานแด่พระมหามุนีพร้อมด้วยพระสาวกตลอด ๗ วัน ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ปรารถนาฐานันดรในกาลนั้น
ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์เราว่า
จงดูพราหมณ์ที่หมอบอยู่แทบเท้าของเรานี้ ผู้สมบูรณ์ด้วยโสมนัส มีผิวพรรณเหมือนเด็กอายุ ๑๖ ปี มีร่างกายอันบุญกรรมสร้างสรรให้คล้าย ทองคำ ผุดผ่อง ผิวบาง ริมฝีปากแดง เหมือนผลตำลึงสุก มีฟันขาวคมเรียบเสมอ มากด้วยกำลังคือคุณ มีกายและใจสูงเพราะโสมนัส เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสน้ำคือคุณ มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยปีติ เขาปรารถนาตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ตรัสรู้ได้โดยเร็วพลัน
พระมหาวีรเจ้าพระนามว่าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคตกาล เขาจักเป็นธรรมทายาทของพระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา
มีนามชื่อว่าพาหิยะ ก็ครั้งนั้น เราเป็นผู้ยินดี หมั่นกระทำสักการะพระมหามุนีเจ้า ตราบเท่าสิ้นชีวิต จุติแล้วได้ไปสวรรค์ ดุจไปที่อยู่ของตน
ฉะนั้น เราจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ย่อมเป็นผู้ถึงความสุข เพราะกรรมนั้นชักนำไป เราจึงได้ท่องเที่ยวไปเสวยราชสมบัติ เมื่อพระศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้าเสื่อมไปแล้ว
เราได้ขึ้นสู่ภูเขาอันล้วนแล้วด้วยหิน บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินสีห์ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญา ทำกิจพระศาสนาของพระชินสีห์
เรา ๕ คนด้วยกัน จุติจากอัตตภาพนั้นแล้วไปสู่เทวโลก เราเกิดเป็นบุรุษชื่อพาหิยะ ในภารุกัจฉนคร อันเป็นเมืองอุดม ภายหลังได้แล่นเรือไปยังสมุทรสาคร ซึ่งมีความสำเร็จเพียงเล็กน้อย ไปได้ ๒-๓ วัน เรือก็อัปปาง
ครั้งนั้น เราตกลงไปยังมหาสมุทร อันเป็นที่อยู่แห่งมังกรร้ายกาจ น่าหวาดเสียว
ครั้งนั้น เราพยายามว่ายข้ามทะเลใหญ่ไปถึงท่าสุปปารกะ มีคนรู้จักน้อย เรานุ่งผ้าครองเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต
ครั้งนั้น หมู่ชนเป็นผู้ยินดีกล่าวว่านี้พระอรหันต์ท่านมาที่นี่ พวกเราสักการะพระอรหันต์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอนและเภสัชแล้วจักถึงความสุข
ครั้งนั้น เราได้ปัจจัยอันเขาสักการะบูชาด้วยปัจจัยเหล่านั้น เกิดความดำริโดยไม่แยบคายขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์
ทีนั้น บุรพเทวดา รู้วาระจิตของเรา จึงตักเตือนว่า ท่านหารู้ช่องทางแห่งอุบายไม่ ที่ไหนจะเป็นพระอรหันต์เล่า
ครั้งนั้น เราอันเทวดานั้นตักเตือน แล้วสลดใจ จึงสอบถามเทวดานั้นว่า
พระอรหันต์ผู้ประเสริฐกว่า นรชนในโลกนี้ คือใคร อยู่ที่ไหน เทวดานั้นบอกว่า พระพิชิตมารผู้มีพระปัญญามาก ประเสริฐ มีปัญญาเสมือน แผ่นดิน ประทับอยู่ที่นครสาวัตถีแคว้นโกศล พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าศากยะ เป็นพระอรหันต์ไม่มีอาสวะ ทรงแสดงธรรมเพื่อบรรลุอรหัตฯ
เราได้สดับคำของเทวดานั้นแล้ว อิ่มใจเหมือนคนกำพร้าได้ขุมทรัพย์ ถึงความอัศจรรย์ เบิกบานใจที่จะได้พบพระอรหันต์อันอุดม เห็นงาม พึงใจ มีอารมณ์ ไม่มีที่สุด
ครั้งนั้น เราออกจากที่นั้นไป ด้วยตั้งใจว่า เมื่อเราชนะกิเลสได้ ก็จะได้เห็นพระพักตร์อันปราศจากมลทินของพระศาสดาทุกทิพาราตรีกาล เราไปถึงแคว้นอันน่ารื่นรมย์นั้นแล้ว ได้ถามพวกพราหมณ์ว่า พระศาสดาผู้ยังโลกให้ยินดี ประทับอยู่ที่ไหน
ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายตอบว่า พระศาสดาอันนรชนและทวยเทพถวายวันทนาเสด็จเข้าไปสู่บุรี
เพื่อทรงแสวงหาพระกระยาหารแล้ว พระองค์ก็คงเสด็จกลับมา ท่านขวนขวายที่จะเข้าเฝ้าพระมุนีเจ้า ก็จงรีบเข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเอกอัครบุคคลนั้นเถิด
ลำดับนั้น เรารีบไปยังเมืองสาวัตถีบุรีอันอุดม ได้พบพระองค์ผู้ไม่กำหนัดในอาหาร ไม่ทรงมุ่งด้วยความโลภ ทรงยังอมตธรรมให้โชติช่วง อยู่ ณ พระนครนี้ ประหนึ่งว่าเป็นที่อยู่ของศิริ พระพักตร์โชติช่วงเหมือนรัศมีพระอาทิตย์ ทรงถือบาตรกำลังเสด็จโคจร บิณฑบาตอยู่
ครั้นพบพระองค์แล้ว เราจึงได้หมอบลงแล้ว กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดม ขอพระองค์โปรดเป็นที่พึ่งของข้า พระองค์ผู้เสียหายไปในทางที่น่าเกลียดด้วยเถิด
พระมุนีผู้สูงสุดได้ตรัสว่า เรากำลังเที่ยวบิณฑบาต เพื่อประโยชน์แก่การยังสัตว์ให้ข้ามพ้น
เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงธรรมแก่ท่าน
ครั้งนั้น เราปรารถนาได้ธรรมนัก จึงได้ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าบ่อยๆ พระองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนาสุญญตบทอันลึกซึ้งแก่เรา เราได้สดับธรรมของพระองค์แล้ว
โอ เราเป็นผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. พระพาหิยทารุจิริยเถระผู้ล้มลงที่กองหยากเยื่อ เพราะแม่โคภูตผีมองไม่เห็นตัวขวิดเอา ได้กล่าวพยากรณ์ด้วยประการดังกล่าวฉะนี้ พระเถระผู้มีปรีชามาก เป็นนักปราชญ์
ครั้นกล่าวบุรพจริตของตนแล้ว ท่านปรินิพพาน ณ พระนครสาวัตถี เมืองอุดมสมบูรณ์ สมเด็จพระฤาษีผู้สูงสุดเสด็จออกจากพระนคร ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระพาหิยะผู้นุ่งผ้าคากรองนั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ มีความเร่าร้อน อันลอยเสียแล้ว ล้มลงที่ภูมิภาค ดุจเสาคันธงถูกลมล้มลง ฉะนั้น หมดอายุ กิเลสแห้ง ทำกิจพระศาสนาของพระชินสีห์เสร็จแล้ว
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระสาวกทั้งหลาย ผู้ยินดีในพระศาสนามาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับร่างของเพื่อนสพรหมจารี แล้วเผาเสีย จงสร้างสถูปบูชา เขาเป็นคนมีปรีชามาก นิพพานแล้ว สาวกผู้ทำตามคำของเราผู้นี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ตรัสรู้ได้เร็วพลัน คาถาแม้ตั้งพัน ถ้าประกอบด้วยบทที่แสดงความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ไซร้ คาถาบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ก็ประเสริฐกว่า
น้ำ ดิน ไฟ และ ลม ไม่ตั้งอยู่ในนิพพานใด
ในนิพพานนั้น บุญกุศลส่องไปไม่ถึง พระอาทิตย์ส่องแสงไม่ถึง พระจันทร์ก็ส่องแสงไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี
อนึ่ง เมื่อใด พราหมณ์ผู้ชื่อว่ามุนีเพราะความเป็นผู้นิ่ง รู้จริงด้วยตนเองแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพ้นจากรูป อรูป สุขและทุกข์ พระโลกนาถผู้เป็นมุนี เป็นที่นับถือของโลกทั้งสาม ได้ภาษิตไว้ด้วยประการดังกล่าวฉะนี้แล.
ทราบว่า ท่านพระพาหิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบพาหิยเถราปทาน.

ขยายความอดีตชาติพระพาหิยะ

นำมาจาก ประวัติพระปุกกุสาติ - สหายแห่งพระพาหิยะคนที่ ๔

หลังจากที่พระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้นานแล้ว ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังใกล้สูญสิ้นไปจากโลก ท่านได้ออกบวชและได้เห็นพุทธบริษัท ๔ เป็นจำนวนมากต่างทอดทิ้งพระธรรมคำสอน จึงเกิดความสลดใจ ท่านพร้อมกับเพื่อนพระอีก ๖ รูป (รวมเป็น ๗ รูป) คิดว่า ตราบใดที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป พวกเราจงเป็นที่พึ่งแก่ตนเองเถิด จึงพากันไปสักการะพระสุวรรณเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ที่มหาชนได้ร่วมกันสร้าง เมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว ได้มองเห็นภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง จึงชวนกันขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขาลูกนั้น โดยตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะยอมสิ้นชีวิตอยู่บน นั้น แล้วจึงตัดไม้ไผ่มาทำเป็นพะอง (บันไดไม้) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผาของภูเขานั้น เมื่อทั้งหมดพากันขึ้นไปยังยอดสูงของภูเขาลูกนั้นแล้ว ก็ผลักพะองให้ตกหน้าผาไปเพื่อไม่ให้มีทางกลับลงมาได้ แล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนนั้น

ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงเหาะไปสู่ หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่ สระอโนดาตล้างหน้าแล้วและเคี้ยวไม้สีฟันชื่อ อนาคลดา แล้วจึงนำภัตและสิ่งของเหล่านั้นมายังพระภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่บรรลุธรรม อันวิเศษ แล้วกล่าวว่า อาวุโส ทั้งหลาย บิณฑบาตนี้ผมนำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและไม้สีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญ สมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป ภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง แล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผม แม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหา พวกกระผมอีกเลย พระมหาเถระนั้นเมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม ได้โดยวิธีใด ๆ ก็หลีกไป

แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็น พระอนาคามีได้อภิญญา ๕ ภิกษุนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างเช่นที่พระเถระที่บรรลุพระอรหัตทำเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุที่เหลือที่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ ห้าม ก็กลับไปเช่นเดียวกัน ภิกษุที่เหลือ ๕ องค์นั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษใด ๆ จึงมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส เทพบุตรทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติใน สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน (พระพุทธเจ้าโคดม) ทั้งหมดนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง