ธรรมจากพระไตรปิฎก

ธรรมะน่าอ่านจากพระไตรปิฎก

Topic: 

พระพาหิยทารุจีริยะ

ประวัติของพระพาหิยะ ผู้เป็นเลิศในทางตรัสรู้เร็ว

นำมาจาก www.tipitaka.com

พาหิยสูตร

๑๐. พาหิยสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ท่าสุปปารกะ
ใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า
เราเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก
ลำดับนั้นแล เทวดาผู้เป็นสายโลหิตในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ
เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะด้วยใจ
แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ
ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์หรือไม่
เป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคอย่างแน่นอน
ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์หรือ
เครื่องเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรค
พาหิยทารุจีริยะถามว่า
เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก
เทวดาตอบว่า ดูกรพาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับอยู่ในพระนครนั้น
ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน
ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย
ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเอง
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง ฯ

[๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
พาหิยทารุจีริยะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่
ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า
ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต
ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน
เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึก และความสงบอันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้ว ผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ

[๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน
เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี
ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด ฯ
แม้ครั้งที่ ๒...
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี
ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล
ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล
เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น
เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ
เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรด้วย พระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ฯ

[๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จ เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก
ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอ
กับท่านทั้งหลาย ทำกาละแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
ช่วยกันยกสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา
และทำสถูปไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายทำไว้แล้ว คติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว ฯ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทาน นี้ในเวลานั้นว่า
ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด
ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง
พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี
ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้ว ด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐

พาหิยเถราปทานที่ ๖ ว่าด้วยบุพจริยาของพระพาหิยเถระ

เล่มที่ ๓๓
[๑๒๖] ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระผู้มีพระภาคผู้นายกมีพระรัศมีใหญ่ เลิศกว่าไตรโลก มีพระนามชื่อว่าปทุมุตระได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระมุนีตรัสสรรเสริญคุณของภิกษุผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลันอยู่ เราได้ฟังแล้วก็ชอบใจ จึงได้ทำสักการะแด่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ถวายทานแด่พระมหามุนีพร้อมด้วยพระสาวกตลอด ๗ วัน ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ปรารถนาฐานันดรในกาลนั้น
ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์เราว่า
จงดูพราหมณ์ที่หมอบอยู่แทบเท้าของเรานี้ ผู้สมบูรณ์ด้วยโสมนัส มีผิวพรรณเหมือนเด็กอายุ ๑๖ ปี มีร่างกายอันบุญกรรมสร้างสรรให้คล้าย ทองคำ ผุดผ่อง ผิวบาง ริมฝีปากแดง เหมือนผลตำลึงสุก มีฟันขาวคมเรียบเสมอ มากด้วยกำลังคือคุณ มีกายและใจสูงเพราะโสมนัส เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสน้ำคือคุณ มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยปีติ เขาปรารถนาตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ตรัสรู้ได้โดยเร็วพลัน
พระมหาวีรเจ้าพระนามว่าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคตกาล เขาจักเป็นธรรมทายาทของพระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา
มีนามชื่อว่าพาหิยะ ก็ครั้งนั้น เราเป็นผู้ยินดี หมั่นกระทำสักการะพระมหามุนีเจ้า ตราบเท่าสิ้นชีวิต จุติแล้วได้ไปสวรรค์ ดุจไปที่อยู่ของตน
ฉะนั้น เราจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ย่อมเป็นผู้ถึงความสุข เพราะกรรมนั้นชักนำไป เราจึงได้ท่องเที่ยวไปเสวยราชสมบัติ เมื่อพระศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้าเสื่อมไปแล้ว
เราได้ขึ้นสู่ภูเขาอันล้วนแล้วด้วยหิน บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินสีห์ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญา ทำกิจพระศาสนาของพระชินสีห์
เรา ๕ คนด้วยกัน จุติจากอัตตภาพนั้นแล้วไปสู่เทวโลก เราเกิดเป็นบุรุษชื่อพาหิยะ ในภารุกัจฉนคร อันเป็นเมืองอุดม ภายหลังได้แล่นเรือไปยังสมุทรสาคร ซึ่งมีความสำเร็จเพียงเล็กน้อย ไปได้ ๒-๓ วัน เรือก็อัปปาง
ครั้งนั้น เราตกลงไปยังมหาสมุทร อันเป็นที่อยู่แห่งมังกรร้ายกาจ น่าหวาดเสียว
ครั้งนั้น เราพยายามว่ายข้ามทะเลใหญ่ไปถึงท่าสุปปารกะ มีคนรู้จักน้อย เรานุ่งผ้าครองเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต
ครั้งนั้น หมู่ชนเป็นผู้ยินดีกล่าวว่านี้พระอรหันต์ท่านมาที่นี่ พวกเราสักการะพระอรหันต์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอนและเภสัชแล้วจักถึงความสุข
ครั้งนั้น เราได้ปัจจัยอันเขาสักการะบูชาด้วยปัจจัยเหล่านั้น เกิดความดำริโดยไม่แยบคายขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์
ทีนั้น บุรพเทวดา รู้วาระจิตของเรา จึงตักเตือนว่า ท่านหารู้ช่องทางแห่งอุบายไม่ ที่ไหนจะเป็นพระอรหันต์เล่า
ครั้งนั้น เราอันเทวดานั้นตักเตือน แล้วสลดใจ จึงสอบถามเทวดานั้นว่า
พระอรหันต์ผู้ประเสริฐกว่า นรชนในโลกนี้ คือใคร อยู่ที่ไหน เทวดานั้นบอกว่า พระพิชิตมารผู้มีพระปัญญามาก ประเสริฐ มีปัญญาเสมือน แผ่นดิน ประทับอยู่ที่นครสาวัตถีแคว้นโกศล พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าศากยะ เป็นพระอรหันต์ไม่มีอาสวะ ทรงแสดงธรรมเพื่อบรรลุอรหัตฯ
เราได้สดับคำของเทวดานั้นแล้ว อิ่มใจเหมือนคนกำพร้าได้ขุมทรัพย์ ถึงความอัศจรรย์ เบิกบานใจที่จะได้พบพระอรหันต์อันอุดม เห็นงาม พึงใจ มีอารมณ์ ไม่มีที่สุด
ครั้งนั้น เราออกจากที่นั้นไป ด้วยตั้งใจว่า เมื่อเราชนะกิเลสได้ ก็จะได้เห็นพระพักตร์อันปราศจากมลทินของพระศาสดาทุกทิพาราตรีกาล เราไปถึงแคว้นอันน่ารื่นรมย์นั้นแล้ว ได้ถามพวกพราหมณ์ว่า พระศาสดาผู้ยังโลกให้ยินดี ประทับอยู่ที่ไหน
ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายตอบว่า พระศาสดาอันนรชนและทวยเทพถวายวันทนาเสด็จเข้าไปสู่บุรี
เพื่อทรงแสวงหาพระกระยาหารแล้ว พระองค์ก็คงเสด็จกลับมา ท่านขวนขวายที่จะเข้าเฝ้าพระมุนีเจ้า ก็จงรีบเข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเอกอัครบุคคลนั้นเถิด
ลำดับนั้น เรารีบไปยังเมืองสาวัตถีบุรีอันอุดม ได้พบพระองค์ผู้ไม่กำหนัดในอาหาร ไม่ทรงมุ่งด้วยความโลภ ทรงยังอมตธรรมให้โชติช่วง อยู่ ณ พระนครนี้ ประหนึ่งว่าเป็นที่อยู่ของศิริ พระพักตร์โชติช่วงเหมือนรัศมีพระอาทิตย์ ทรงถือบาตรกำลังเสด็จโคจร บิณฑบาตอยู่
ครั้นพบพระองค์แล้ว เราจึงได้หมอบลงแล้ว กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดม ขอพระองค์โปรดเป็นที่พึ่งของข้า พระองค์ผู้เสียหายไปในทางที่น่าเกลียดด้วยเถิด
พระมุนีผู้สูงสุดได้ตรัสว่า เรากำลังเที่ยวบิณฑบาต เพื่อประโยชน์แก่การยังสัตว์ให้ข้ามพ้น
เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงธรรมแก่ท่าน
ครั้งนั้น เราปรารถนาได้ธรรมนัก จึงได้ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าบ่อยๆ พระองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนาสุญญตบทอันลึกซึ้งแก่เรา เราได้สดับธรรมของพระองค์แล้ว
โอ เราเป็นผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. พระพาหิยทารุจิริยเถระผู้ล้มลงที่กองหยากเยื่อ เพราะแม่โคภูตผีมองไม่เห็นตัวขวิดเอา ได้กล่าวพยากรณ์ด้วยประการดังกล่าวฉะนี้ พระเถระผู้มีปรีชามาก เป็นนักปราชญ์
ครั้นกล่าวบุรพจริตของตนแล้ว ท่านปรินิพพาน ณ พระนครสาวัตถี เมืองอุดมสมบูรณ์ สมเด็จพระฤาษีผู้สูงสุดเสด็จออกจากพระนคร ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระพาหิยะผู้นุ่งผ้าคากรองนั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ มีความเร่าร้อน อันลอยเสียแล้ว ล้มลงที่ภูมิภาค ดุจเสาคันธงถูกลมล้มลง ฉะนั้น หมดอายุ กิเลสแห้ง ทำกิจพระศาสนาของพระชินสีห์เสร็จแล้ว
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระสาวกทั้งหลาย ผู้ยินดีในพระศาสนามาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับร่างของเพื่อนสพรหมจารี แล้วเผาเสีย จงสร้างสถูปบูชา เขาเป็นคนมีปรีชามาก นิพพานแล้ว สาวกผู้ทำตามคำของเราผู้นี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ตรัสรู้ได้เร็วพลัน คาถาแม้ตั้งพัน ถ้าประกอบด้วยบทที่แสดงความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ไซร้ คาถาบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ก็ประเสริฐกว่า
น้ำ ดิน ไฟ และ ลม ไม่ตั้งอยู่ในนิพพานใด
ในนิพพานนั้น บุญกุศลส่องไปไม่ถึง พระอาทิตย์ส่องแสงไม่ถึง พระจันทร์ก็ส่องแสงไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี
อนึ่ง เมื่อใด พราหมณ์ผู้ชื่อว่ามุนีเพราะความเป็นผู้นิ่ง รู้จริงด้วยตนเองแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพ้นจากรูป อรูป สุขและทุกข์ พระโลกนาถผู้เป็นมุนี เป็นที่นับถือของโลกทั้งสาม ได้ภาษิตไว้ด้วยประการดังกล่าวฉะนี้แล.
ทราบว่า ท่านพระพาหิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบพาหิยเถราปทาน.

ขยายความอดีตชาติพระพาหิยะ

นำมาจาก ประวัติพระปุกกุสาติ - สหายแห่งพระพาหิยะคนที่ ๔

หลังจากที่พระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้นานแล้ว ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังใกล้สูญสิ้นไปจากโลก ท่านได้ออกบวชและได้เห็นพุทธบริษัท ๔ เป็นจำนวนมากต่างทอดทิ้งพระธรรมคำสอน จึงเกิดความสลดใจ ท่านพร้อมกับเพื่อนพระอีก ๖ รูป (รวมเป็น ๗ รูป) คิดว่า ตราบใดที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป พวกเราจงเป็นที่พึ่งแก่ตนเองเถิด จึงพากันไปสักการะพระสุวรรณเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ที่มหาชนได้ร่วมกันสร้าง เมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว ได้มองเห็นภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง จึงชวนกันขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขาลูกนั้น โดยตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะยอมสิ้นชีวิตอยู่บน นั้น แล้วจึงตัดไม้ไผ่มาทำเป็นพะอง (บันไดไม้) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผาของภูเขานั้น เมื่อทั้งหมดพากันขึ้นไปยังยอดสูงของภูเขาลูกนั้นแล้ว ก็ผลักพะองให้ตกหน้าผาไปเพื่อไม่ให้มีทางกลับลงมาได้ แล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนนั้น

ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงเหาะไปสู่ หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่ สระอโนดาตล้างหน้าแล้วและเคี้ยวไม้สีฟันชื่อ อนาคลดา แล้วจึงนำภัตและสิ่งของเหล่านั้นมายังพระภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่บรรลุธรรม อันวิเศษ แล้วกล่าวว่า อาวุโส ทั้งหลาย บิณฑบาตนี้ผมนำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและไม้สีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญ สมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป ภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง แล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผม แม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหา พวกกระผมอีกเลย พระมหาเถระนั้นเมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม ได้โดยวิธีใด ๆ ก็หลีกไป

แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็น พระอนาคามีได้อภิญญา ๕ ภิกษุนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างเช่นที่พระเถระที่บรรลุพระอรหัตทำเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุที่เหลือที่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ ห้าม ก็กลับไปเช่นเดียวกัน ภิกษุที่เหลือ ๕ องค์นั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษใด ๆ จึงมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส เทพบุตรทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติใน สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน (พระพุทธเจ้าโคดม) ทั้งหมดนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง

เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี [๕]

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

นำมาจาก 84000.org

๑. ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ปเร จ น วิชานนฺติ” เป็นต้น.

๒. พระวินัยธรกับพระธรรมกถึกเถียงกันเรื่องวินัย

ความพิสดารว่า ภิกษุสองรูป คือพระวินัยธรรูป ๑ พระธรรมกถึกรูป ๑ มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี. วันหนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนั้น พระธรรมกถึก ไปถาน(ส้วมของพระ) แล้ว เว้นน้ำชำระที่เหลือไว้ในภาชนะ ที่ซุ้มน้ำแล้วก็ออกมา. ภายหลัง พระวินัยธรเข้าไปที่ซุ้มน้ำนั้น เห็นน้ำนั้น ออกมาถามพระธรรมกถึกนอกนี้ว่า “ผู้มีอายุ ท่านเหลือน้ำไว้หรือ?”

    ธ. ขอรับ ผู้มีอายุ.
    ว. ท่านก็ไม่รู้ว่าอาบัติ ในเพราะการเหลือน้ำไว้นี้หรือ?
    ธ. ขอรับ ผมไม่ทราบ.
    ว. ไม่รู้ก็ช่างเถิด ผู้มีอายุ เป็นอาบัติในข้อนี้.
    ธ. ถ้าอย่างนั้น ผมจักทำคืนอาบัตินั้นเสีย.
    ว. ผู้มีอายุ ก็ถ้าว่าข้อนั้นท่านไม่แกล้งทำ เพราะความไม่มีสติ, อาบัติไม่มี.

พระธรรมกถึกนั้นได้เป็นผู้มีความเห็นอาบัตินั้นว่ามิใช่อาบัติ.

ฝ่ายพระวินัยธรได้บอกแก่พวกนิสิตของตนว่า “พระธรรมกถึกรูปนี้ แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้” พวกนิสิตพระวินัยธรนั้น เห็นพวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่าน แม้ต้องอาบัติแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นไปแจ้งแก่พระอุปัชฌาย์ของตนแล้ว.

พระธรรมกถึกนั้นพูดอย่างนี้ว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนพูดว่า ‘ไม่เป็นอาบัติ’ เดี๋ยวนี้พูดว่า ‘เป็นอาบัติ,’ พระวินัยธรนั้น พูดมุสา;” พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นไปกล่าวว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านพูดมุสา.” พวกนิสิตของพระวินัยธรและพระธรรมกถึกนั้น ทำความทะเลาะกันและกันให้เจริญแล้ว ด้วยประการอย่างนี้.

ภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาสแล้ว จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม- แก่พระธรรมกถึก เพราะโทษที่ไม่เห็นอาบัติ. จำเดิมแต่กาลนั้น แม้พวกอุปัฏฐากผู้ถวายปัจจัยของภิกษุ ๒ รูปนั้น ก็ได้เป็น ๒ ฝ่าย. พวกภิกษุณีผู้รับโอวาทก็ดี พวกอารักขเทวดาก็ดี- ของภิกษุ ๒ รูปนั้น พวกอากาสัฏฐเทวดา- ผู้เพื่อนเห็น เพื่อนคบของพวกอารักขเทวดาเหล่านั้นก็ดี พวกปุถุชนทั้งปวงก็ดี ได้เป็น ๒ ฝ่ายตลอดจนพรหมโลกก็โกลาหลกึกก้องเป็นเสียงเดียว. ได้ขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพ.

____________________________
๑- กรรมที่สงฆ์จะพึงทำแก่ภิกษุที่สงฆ์สมควรจะยกเสีย
๒- เทวดาผู้คุ้มครองรักษา
๓- เทวดาผู้สถิตอยู่ในอากาศ

๓. พระศาสดาตรัสสอนให้สามัคคีกัน

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า กราบทูลการที่พวกภิกษุผู้ยกวัตรถือ๑- ว่า “พระธรรมถึกรูปนี้ สงฆ์ยกเสียแล้วด้วยกรรมที่ประกอบด้วยธรรมแท้.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึกผู้ที่สงฆ์ยกเสียแล้วถือว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกเรา สงฆ์ยกเสียแล้ว ด้วยกรรมซึ่งมิได้ประกอบด้วยธรรม.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึก ผู้ที่สงฆ์ยกวัตรเหล่านั้น แม้อันพวกภิกษุผู้ยกวัตรห้ามอยู่ ก็ยังขืนเที่ยวตามห้อมล้อมพระธรรมกถึกนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งโอวาทไปว่า “นัยว่า ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน” ถึง ๒ ครั้ง ทรงสดับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน.” ครั้นหนที่ ๓ ทรงสดับว่า “ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว” ดังนี้ จึงเสด็จไปสู่สำนักของเธอทั้งหลายแล้ว ตรัสโทษในการยกวัตรของพวกภิกษุผู้ยกวัตร และโทษในการไม่เห็นอาบัติของพวกภิกษุนอกนี้แล้ว ทรงอนุญาตสังฆกรรมทั้งหลายมีอุโบสถเป็นต้น ในสีมาเดียวกันที่โฆสิตารามนั่นเอง แก่เธอทั้งหลายอีกแล้ว ทรงบัญญัติวัตรในโรงฉันว่า “ภิกษุทั้งหลายพึงนั่งในแถวมีอาสนะหนึ่งๆ ในระหว่างๆ๒- ดังนี้เป็นต้น แก่เธอทั้งหลาย ผู้เกิดการแตกร้าวในสถานที่ทั้งหลาย มีโรงฉันเป็นต้น แล้วทรงสดับว่า “ถึงเดี๋ยวนี้ ภิกษุทั้งหลายก็ยังเกิดการแตกร้าวกันอยู่” จึงเสด็จไปที่โฆสิตารามนั้นแล้ว ตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน” ดังนี้เป็นต้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบหายให้,

แท้จริง แม้นางนกลฏุกิกา๓-. อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต” ดังนี้แล้ว ตรัสลฏุกิกชาดก๔- แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย, เพราะว่า แม้นกกระจาบตั้งหลายพัน อาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต” ดังนี้แล้ว ตรัสวัฏฏกชาดก๕-

____________________________
๑- ลทธึ.
๒- ได้แก่นั่งเป็นแถว เว้นช่องว่างไว้ให้ภิกษุอื่นเข้าแทรกนั่งได้รูปหนึ่งๆ ในระหว่าง.
๓- นกไส้
๔- ขุ. ชา. ปัญจก. ๒๗/๗๓๒; อรรถกถา. ๔/๔๔๖.

๕- ขุ. ชา เอก. ๒๗/๓๓; อรรถกถา. ๒/๒๙๗

๔. ตรัสสอนเท่าไรก็ไม่เชื่อ

แม้อย่างนี้ พวกภิกษุนั้นก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำ, เมื่อภิกษุผู้เป็นธรรมวาทีรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่พอใจให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจ้าของแห่งธรรม ทรงรอก่อน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความขวนขวายน้อย หมั่นประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่เถิด;
พวกข้าพระองค์จักปรากฏ เพราะการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่ง และการวิวาทนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าถึงความที่พระเจ้าทีฆีติโกศลราชถูกพระเจ้าพรหมทัต ชิงเอาราชสมบัติ
ปลอมเพศไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จอยู่ (ในเมืองพาราณสี) ถูกจับปลงพระชนม์เสีย
และความที่พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารเหล่านั้นพร้อมเพรียงกัน
จำเดิมแต่ เมื่อทีฆาวุกุมารยกพระชนม์ของพระองค์ถวายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ได้เคยมีแล้ว ในเมืองพาราณสี ได้มีพระเจ้ากรุงกาสี (พระองค์หนึ่ง)
ทรงพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัต” ดังนี้เป็นต้น
แม้ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยมเห็นปานนั้น๑-
ยังได้มีแล้วแก่พระราชาเหล่านั้น ผู้มีไม้อันถือไว้แล้ว ผู้มีศัสตราอันถือไว้แล้ว;
ข้อที่ท่านทั้งหลายผู้บวชแล้วในธรรมวินัยที่กล่าวชอบแล้วอย่างนี้ ควรเป็นผู้อดกลั้นเป็นผู้สงบเสงี่ยม,
จะพึงงามในธรรมวินัยนี้แล ภิกษุทั้งหลาย”
ดังนี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะทำเธอทั้งหลาย ให้พร้อมเพรียงกันได้เลย.
____________________________

๑- ภวิสฺสติ เป็นกิริยาอาขยาต บอกอนาคตกาล แต่ในประโยคนี้มี หิ นาม จึงแปล ภวิสฺสติ เป็นอดีตกาล.

๕. พระศาสดาทรงระอาจึงเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ป่ารักขิตวัน

พระองค์ทรงระอาพระทัย เพราะความอยู่อาเกียรณนั้น ทรงพระดำริว่า “เดี๋ยวนี้ เราอยู่อาเกียรณเป็นทุกข์, และภิกษุเหล่านี้ไม่ทำ (ตาม) คำของเรา ถ้าอย่างไร เราพึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว” ดังนี้ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ไม่ตรัสบอกพระภิกษุสงฆ์ ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ เสด็จไปพาลกโลณการาม แต่พระองค์เดียว ตรัสเอกจาริกวัตร๑- แก่พระภคุเถระที่พาลกโลณการามนั้นแล้ว ตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีรสแก่กุลบุตร ๓ คน ในมิคทายวัน๒- ชื่อปาจีนวังสะ แล้วเสด็จไปทางบ้านปาริเลยยกะ.

ดังได้สดับมา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยบ้านปาริเลยยกะ เสด็จจำพรรษาอยู่ที่ควงไม้สาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน อันช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากอยู่เป็นผาสุก

____________________________
๑- ได้แก่ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่แต่ผู้เดียว.
๒- ป่าซึ่งประทานให้หมู่เนื้ออาศัย ป่าชนิดนี้ใครจะทำอันตรายแก่หมู่สัตว์ไม่ได้.

๖. พวกอุบาสกทรมานภิกษุ

ฝ่ายพวกอุบาสกผู้อยู่ในเมืองโกสัมพีแล ไปสู่วิหาร ไม่เห็นพระศาสดา จึงถามว่า “พระศาสดาเสด็จอยู่ที่ไหน? ขอรับ.” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระองค์เสด็จไปสู่ราวป่าปาริเลยยกะเสียแล้ว.”

    อุ. เพราะเหตุอะไร? ขอรับ.
    ภ. พระองค์ทรงพยายามจะทำพวกเราให้พร้อมเพรียงกัน. แต่พวกเราหาได้เป็นผู้พร้อมเพรียงกันไม่.
    อุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายบวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว, ถึงเมื่อพระองค์ทรงทำสามัคคี, ไม่ได้เป็นผู้สามัคคีกันแล้วหรือ?
    ภ. อย่างนั้นแล ผู้มีอายุ.

พวกมนุษย์คิดกันว่า “ภิกษุพวกนี้ บวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว, ถึงเมื่อพระองค์ทรงทำสามัคคีอยู่, ก็ไม่สามัคคีกันแล้ว; พวกเราไม่ได้เห็นพระศาสดา เพราะอาศัยภิกษุพวกนี้; พวกเราจักไม่ถวายอาสนะ จักไม่ทำสามีจิกรรมมีการไหว้เป็นต้นแก่ภิกษุพวกนี้;”
จำเดิมแต่นั้นมา ก็ไม่ทำแม้สักว่าสามีจิกรรมแก่ภิกษุพวกนั้น. เธอทั้งหลายซูบซีดเพราะมีอาหารน้อย, โดยสองสามวันเท่านั้นก็เป็นคนตรง แสดงโทษที่ล่วงเกินแก่กันและกัน ต่างรูปต่างขอขมากันแล้วกล่าวว่า “อุบาสกทั้งหลาย พวกเราพร้อมเพรียงกันแล้ว, ฝ่ายพวกท่าน ขอให้เป็นพวกเราเหมือนอย่างก่อน”

    อุ. พวกท่านทูลขอขมาพระศาสดาแล้วหรือ? ขอรับ.
    ภ. ยังไม่ได้ทูลขอขมา ผู้มีอายุ.
    อุ. ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านทูลขอขมาพระศาสดาเสีย, ฝ่ายพวกข้าพเจ้าจักเป็นพวกท่านเหมือนอย่างก่อน ในกาลเมื่อพวกท่านทูลขอขมาพระศาสดาแล้ว.

เธอทั้งหลายไม่สามารถจะไปสู่สำนักของพระศาสดา เพราะเป็นภายในพรรษา ยังภายในพรรษานั้น ให้ล่วงไปด้วยความลำบาก.

๗. ช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากพระศาสดา

ฝ่ายพระศาสดา อันช้างนั้นอุปัฏฐากอยู่ ประทับอยู่สำราญแล้ว. ฝ่ายช้างนั้นละฝูงเข้าไปสู่ราวป่านั้น เพื่อต้องการความอยู่ผาสุก.

พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวอย่างไร?

พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า

(ครั้งนั้น ความตริได้มีแก่พระยาช้างนั้นว่า)
“เราอยู่อาเกียรณด้วยพวกช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้นและลูกช้าง เคี้ยวกินหญ้าที่เขาเด็ดปลายเสียแล้ว, และเขาคอยเคี้ยวกินกิ่งไม้ที่เราหักลงๆ และเราดื่มน้ำที่ขุ่น, เมื่อเราลงและขึ้นสู่ท่าแล้ว พวกช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป; ถ้าอย่างไร เราจะหลีกออกจากหมู่อยู่ตัวเดียว”

ครั้งนั้นแล พระยาช้างนั้นหลีกออกจากโขลง เข้าไป ณ บ้านปาริเลยยกะ ราวป่ารักขิตวัน ควงไม้สาละใหญ่ (และ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่แล้ว; ก็แลครั้นเข้าไปแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แลดูอยู่ไม่เห็นวัตถุอะไรๆ อื่น จึงกระทืบควงไม้สาละใหญ่ด้วยเท้า ถาก (ให้เรียบ) ถือกิ่งไม้ด้วยงวงกวาด. ตั้งแต่นั้นมา พระยาช้างนั้นจับหม้อด้วยงวง ตักน้ำฉันน้ำใช้มาตั้งไว้, เมื่อทรงพระประสงค์ด้วยน้ำร้อน, ก็จัดน้ำร้อนถวาย.

พระยาช้างนั้นจัดน้ำร้อนได้อย่างไร?

พระยาช้างนั้นสีไม้แห้งด้วยงวงให้ไฟเกิด, ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาศิลาในกองไฟนั้นแล้ว กลิ้งก้อนศิลาเหล่านั้นไปด้วยท่อนไม้ ทิ้งลงในสะพังน้อยที่ตัวกำหนดหมายไว้, ลำดับนั้น หย่อนงวงลงไป รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว, จึงไปถวายบังคมพระศาสดา.

พระศาสดาตรัสว่า “ปาริเลยยกะ น้ำเจ้าต้มแล้วหรือ?” ดังนี้แล้ว เสด็จไปสรงในที่นั้น. ในกาลนั้น พระยาช้างนั้นนำผลไม้ต่างอย่างมาถวายแด่พระศาสดา. ก็เมื่อพระศาสดาจะเสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต พระยาช้างนั้นถือบาตรจีวรวางไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป. พระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านแล้วรับสั่งว่า “ปาริเลยยกะ ตั้งแต่ที่นี้ เจ้าไม่อาจไปได้, เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา” ดังนี้แล้ว ให้พระยาช้างนั้นเอาบาตรจีวรมาถวายแล้ว เสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต.

ส่วนพระยาช้างนั้นยืนอยู่ที่นั้นเอง จนกว่าพระศาสดาจะเสด็จออกมา ในเวลาพระศาสดาเสด็จมา ทำการต้อนรับแล้ว ถือบาตรจีวรโดยนัยก่อน (นำไป) ปลงลง ณ ที่ประทับอยู่แล้ว ถวายงานพัดด้วยกิ่งไม้ แสดงวัตรอยู่. ในราตรี พระยาช้างนั้นถือท่อนไม้ใหญ่ด้วยงวง เที่ยวไปในระหว่างๆ แห่งราวป่ากว่าอรุณจะขึ้น เพื่อกันอันตรายอันจะมีแต่เนื้อร้ายด้วยตั้งใจว่า “จักรักษาพระศาสดา”

ได้ยินว่า ราวป่านั้นชื่อว่ารักขิตวันสัณฑะ จำเดิมแต่กาลนั้นมา.

ครั้นอรุณขึ้นแล้ว, พระยาช้างนั้นทำวัตรทั้งปวงโดยอุบายนั้นนั่นแล ตั้งต้นแต่การถวายน้ำสรงพระพักตร์.

๘. วานรถวายรวงน้ำผึ้ง

ในกาลนั้น วานรตัวหนึ่งเห็นช้างนั้นลุกขึ้นแล้วๆ ทำอภิสมาจาริกวัตร (คือการปฏิบัติ) แด่พระตถาคตเจ้าแล้ว คิดว่า “เราก็จักทำอะไรๆ ถวายบ้าง” เที่ยวไปอยู่, วันหนึ่ง เห็นรวงผึ้งที่กิ่งไม้หาตัวมิได้ หักกิ่งไม้แล้ว นำรวงผึ้งพร้อมทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดา ได้เด็ดใบตองรองถวาย๑- พระศาสดาทรงรับแล้ว.

วานรแลดูอยู่ ด้วยคิดว่า “พระศาสดาจักทรงทำบริโภคหรือไม่?” เห็นพระศาสดาทรงรับแล้วนั่งเฉยอยู่ คิดว่า “อะไรหนอแล” จึงจับปลายกิ่งไม้พลิกพิจารณาดู เห็นตัวอ่อนแล้ว จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกเสียแล้ว จึงได้ถวายใหม่. พระศาสดาทรงบริโภคแล้ว. วานรนั้นมีใจยินดี ได้จับกิ่งไม้นั้นๆ ยืนฟ้อนอยู่.

ในกาลนั้น กิ่งไม้ที่วานรนั้นจับแล้วก็ดี กิ่งไม้ที่วานรนั้นเหยียบแล้วก็ดี หักแล้ว. วานรนั้นตกลงที่ปลายตออันหนึ่ง มีตัวอันปลายตอแทงแล้ว มีจิตเลื่อมใส ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร.

____________________________
๑- ตตฺถ ฐเปตฺวา อทาสิ วางถวายไว้ ณ ที่นั้น.

๙. พระยาช้างสังเกตดูวัตรพระอานนท์

การที่พระตถาคตเจ้า อันพระยาช้างอุปัฏฐาก ประทับอยู่ในราวป่ารักขิตวันนั้น ได้ปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้น. ตระกูลใหญ่ๆ คือ ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ และนางวิสาขามหาอุบาสิกา อย่างนี้เป็นต้น ได้ส่งสาสน์จากนครสาวัตถี ไปถึงพระอานนทเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดาแก่พวกข้าพเจ้า.”

ฝ่ายภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้อยู่ในทิศ จำพรรษาแล้ว เข้าไปหาพระอานนทเถระ วอนขอว่า “อานนท์ผู้มีอายุ ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ฟังนานมาแล้ว; อานนท์ผู้มีอายุ ดีละ ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

พระเถระพาภิกษุเหล่านั้นไป ณ ที่นั้นแล้ว คิดว่า “การเข้าไปสู่สำนักพระตถาคตเจ้า ผู้เสด็จอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส พร้อมกับภิกษุมีประมาณถึงเท่านี้ หาควรไม่” ดังนี้แล้ว จึงพักภิกษุเหล่านั้นไว้ข้างนอกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแต่รูปเดียวเท่านั้น.

พระยาช้างปาริเลยยกะเห็นพระอานนทเถระนั้นแล้ว ถือท่อนไม้วิ่งไป.

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสว่า “หลีกไปเสียปาริเลยยกะ อย่าห้ามเลย, ภิกษุนั่นเป็นพุทธอุปัฏฐาก” พระยาช้างปาริเลยยกะนั้น ทิ้งท่อนไม้เสียในที่นั้นเองแล้ว ได้เอื้อเฟื้อถึงการรับบาตรจีวร. พระเถระมิได้ให้แล้ว. พระยาช้างได้คิดว่า “ถ้าภิกษุรูปนี้จักมีวัตรอันได้เรียนแล้ว, ท่านคงจักไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาที่ประทับของพระศาสดา.” พระเถระได้วางบาตรจีวรไว้ที่พื้นแล้ว.

๑๐. ไม่ได้สหายที่มีปัญญาเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า

จริงอยู่ ชนผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร ย่อมไม่วางบริขารของตนไว้บนที่นั่งหรือบนที่นอนของครู. พระยาช้างนั้นเห็นอาการนั้น ได้เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว.
พระเถระอภิวาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาตรัสถามว่า “อานนท์ เธอมาผู้เดียวเท่านั้นหรือ?” ทรงสดับความที่พระเถระเป็นผู้มาพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ แล้วตรัสว่า “ก็ภิกษุเหล่านั้น อยู่ที่ไหน?” เมื่อพระเถระทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงพักเธอทั้งหลายไว้ข้างนอกมาแล้ว (แต่รูปเดียว)” ตรัสว่า “เรียกเธอทั้งหลายมาเถิด” พระเถระได้ทำตามรับสั่งแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นมาถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายแล้ว.

เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม และเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จยืนและประทับนั่งพระองค์เดียวตลอดไตรมาส ทำกิจที่ทำได้ด้วยยาก, ผู้ทำวัตรและปฏิวัตรก็ดี ผู้ถวายน้ำสรงพระพักตร์ก็ดี ชะรอยจะมิได้มีแล้ว”,

ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเรา อันพระยาช้างปาริเลยยกะทำแล้ว ก็อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้ อยู่ด้วยกันควรแล้ว, เมื่อไม่ได้สหาย(เห็นปานนี้) ความเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า” ดังนี้แล้ว ได้ภาษิต ๓ คาถาใน นาควรรค เหล่านี้ว่า :-

    ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำ
    มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ไว้เป็นผู้เที่ยว
    ไปด้วยกันไซร้, (บุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนั้น) ควรมีใจยินดี
    มีสติ ครอบงำอันตรายซึ่งคอยเบียดเบียนรอบข้างทั้งปวงเสีย
    แล้ว เที่ยวไปกับสหายนั้น, ถ้าบุคคลไม่ได้สหาย ผู้มีปัญญา
    รักษาตน มีปัญญาทรงจำ มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์
    ให้สำเร็จไว้ เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้, บุคคลนั้นควรเที่ยวไป
    คนเดียว เหมือนพระราชาผู้ละแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชำนะ
    แล้ว เสด็จอยู่แต่องค์เดียว, (และ) เหมือนพระยาช้างอันชื่อว่า
    มาตังคะเที่ยวอยู่ในป่าแต่เชือกเดียว, การเที่ยวไปผู้เดียว
    ประเสริฐกว่า ความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล, บุคคลผู้
    ไม่ได้สหายเห็นปานนั้น ควรมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้
    เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย, เหมือนพระยาช้างชื่อ
    มาตังคะผู้มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่เชือกเดียว
    และหาได้ทำบาปไม่.”

ในกาลจบคาถา ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ รูป ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว.

พระอานนทเถระกราบทูลสาสน์ที่ตระกูลใหญ่ๆ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นต้นส่งมาแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวก ๕ โกฏิ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นหัวหน้า หวังความเสด็จมาของพระองค์อยู่.”

พระศาสดาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงรับบาตรจีวร” ดังนี้แล้ว ให้พระเถระรับบาตรจีวรแล้ว เสด็จออกไป. พระยาช้างได้ไปยืนขวางทางไว้. ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระยาช้างทำอะไร?”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ช้างหวังจะถวายภิกขาแก่เธอทั้งหลาย, ก็แลช้างนี้ได้ทำอุปการะแก่เราตลอดราตรีนาน, การยังจิตของช้างนี้ให้ขัดเคืองไม่ควร, ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายกลับเถิด.” พระศาสดาทรงพาภิกษุทั้งหลายเสด็จกลับแล้ว.

ฝ่ายช้างเข้าไปสู่ราวป่าแล้ว รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมาทำให้เป็นกองไว้, ในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจฉันผลไม้ทั้งหลายให้หมดสิ้น. ในกาลเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไปแล้ว. พระยาช้างไปตามระหว่างๆ แห่งภิกษุทั้งหลาย ยืนขวางพระพักตร์พระศาสดาไว้. ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างนี้ทำอะไร? ”

    ศ. ภิกษุทั้งหลาย ช้างนี้จะส่งพวกเธอไปแล้ว ชวนให้เรากลับ.
    ภ. อย่างนั้นหรือ? พระองค์ผู้เจริญ.
    ศ. อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.

๑๑. ช้างทำกาละไปเกิดเป็นเทพบุตร

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะช้างนั้นว่า “ปาริเลยยกะ นี้ความไปไม่กลับของเรา, ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคและผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้, เจ้าหยุดอยู่เถิด.”

พระยาช้างได้ฟังรับสั่งดังนั้นแล้ว ได้สอดงวงเข้าปากร้องไห้ เดินตามไปข้างหลังๆ. ก็พระยาช้างนั้น เมื่อเชิญพระศาสดาให้กลับได้ พึงปฏิบัติโดยอาการนั้นแลจนตลอดชีวิต.

ฝ่ายพระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านนั้นแล้ว ตรัสว่า “ปาริเลยยกะ จำเดิมแต่นี้ไป มิใช่ที่ของเจ้า, เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์. มีอันตรายเบียดเบียนอยู่รอบข้าง, เจ้าจงหยุดอยู่เถิด”

ช้างนั้นยืนร้องไห้อยู่ในที่นั้น, ครั้นเมื่อพระศาสดาทรงละคลองจักษุไป, มีหัวใจแตก, ทำกาละแล้ว เกิดในท่ามกลางนางเทพอัปสรพันหนึ่ง ในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เพราะความเลื่อมใสในพระศาสดา ชื่อของเทพบุตรนั้นว่า “ปาริเลยยกเทพบุตร” ฝ่ายพระศาสดาได้เสด็จถึงพระเชตวันแล้วโดยลำดับ.

๑๒. ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทูลขอขมาพระศาสดา

ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีสดับว่า “ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จถึงกรุงสาวัตถีแล้ว” ได้ไป ณ ที่นั้นเพื่อจะกราบทูลขอขมาพระศาสดา.
พระเจ้าโกศลทรงสดับว่า “ได้ยินว่า พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้นมาอยู่” จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน.”

พระศาสดาตรัสตอบว่า “ดูก่อนมหาราช ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีศีล, แต่ไม่ถือเอาคำของอาตมภาพ เพราะวิวาทกันและกันเท่านั้น, บัดนี้ เธอทั้งหลายมาเพื่อขอขมาอาตมภาพ, ดูก่อนมหาราช ขอภิกษุเหล่านั้นจงมาเถิด.”

ฝ่ายท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่วิหาร” ดังนี้แล้ว ถูกพระศาสดาทรงห้ามเสียเหมือนอย่างนั้น ได้นิ่งแล้ว.

ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประทานเสนาสนะ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำให้เป็นที่สงัดแก่เธอทั้งหลาย. ภิกษุเหล่าอื่นไม่นั่ง ไม่ยืน ร่วมกับภิกษุพวกนั้น.

พวกชนผู้มาแล้วๆ ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหน ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น?” พระศาสดาทรงแสดงว่า “พวกนั่น.” ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเหล่านั้นถูกพวกชนผู้มาแล้วๆ ชี้นิ้วว่า "ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น,

ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น” ดังนี้ ไม่อาจยกศีรษะขึ้น เพราะความอาย ฟุบลง แทบบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทำกรรมหนักแล้ว, ชื่อว่าเธอทั้งหลายแม้บวชแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา, เมื่อเราทำความสามัคคีอยู่, ไม่ทำ (ตาม) คำของเรา, ฝ่ายบัณฑิตอันมีในปางก่อน สดับโอวาทของมารดาและบิดาผู้ต้องประหารชีวิต, เมื่อบิดามารดานั้นแม้ถูกปลงชีวิตอยู่, ก็ไม่ล่วงโอวาทนั้น ภายหลังได้ครองราชสมบัติใน ๒ แว่นแคว้น” ดังนี้แล้ว

ตรัสทีฆาวุกุมารชาดก๑- อีกเหมือนกันแล้ว ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุกุมาร ถึงเมื่อพระชนนีและพระชนกถูกปลงชีวิตอยู่อย่างนั้น,
ก็ไม่ก้าวล่วงโอวาทของพระชนนีและพระชนกเหล่านั้นแล้ว
ภายหลังได้ธิดาของพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในแว่นแคว้นกาสีและแว่นแคว้นโกศลทั้งสองแล้ว.

ส่วนพวกเธอทั้งหลายไม่ทำ (ตาม) คำของเรา ทำกรรมหนัก” ดังนี้แล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า

    ๕. ปเร จ น วิชานนฺติ มยเมตฺถ ยมามฺหเส
    เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ตโต สมฺมนฺติ เมธคา.
    “ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า ‘พวกเราพากันย่อยยับอยู่ใน
    ท่ามกลางสงฆ์นี้’ ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้นย่อมรู้ชัด,
    ความหมายมั่นกันและกัน ย่อมสงบเพราะการปฏิบัติ
    ของชนพวกนั้น.”

____________________________
๑- ขุ. ปัญจก. ๒๗/๘๐๓; อรรถกถา. ๔/๔๙๕

๑๓. แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเร เป็นต้น ความว่า เหล่าชนผู้ทำความแตกร้าว ยกบัณฑิตทั้งหลายเสีย คือพวกอื่นจากบัณฑิตนั้น ชื่อว่าชนพวกอื่น,
ชนพวกอื่นนั้น ทำความวุ่นวายอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมไม่รู้สึกตัวว่า “เราทั้งหลายย่อมย่อยยับ คือป่นปี้ ฉิบหาย ได้แก่ ไปสู่ที่ใกล้ คือสำนักมฤตยูเป็นนิตย์.”

บาทพระคาถาว่า เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดผู้เป็นบัณฑิตในหมู่นั้น ย่อมรู้สึกตัวว่า “เราทั้งหลายไปสู่ที่ใกล้มฤตยู.”

บาทพระคาถาว่า ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ความว่า ชนเหล่านั้นรู้อยู่อย่างนี้แล ยังการทำความในใจโดยอุบายที่ชอบให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อสงบความหมายมั่น คือความทะเลาะกัน, เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมายมั่นเหล่านั้นย่อมสงบ เพราะความปฏิบัตินั้นของบัณฑิตเหล่านั้น.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอธิบายในพระคาถานี้ อย่างนี้ว่า

    “คำว่า ปเร จ เป็นต้น ความว่า ชนทั้งหลาย แม้อันเรา (ตถาคต) กล่าวสอนอยู่ว่า
    ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ทำความแตกร้าวกัน’
    ดังนี้เป็นต้น ในกาลก่อน ก็ไม่นับถือ เพราะไม่รับโอวาทของเรา ชื่อว่าชนพวกอื่น.
    ชนพวกอื่นนั้นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า ‘เราทั้งหลายถือผิด ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ย่อมย่อยยับ
    ได้แก่พยายามเพื่อความเจริญแห่งเหตุอันทำความพินาศ มีแตกร้าวกันเป็นต้น ในท่ามกลางสงฆ์นี้.’
    แต่บัดนี้ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่าใด ในระหว่างแห่งเธอทั้งหลายนั้น พิจารณาอยู่รู้ชัดว่า
    ‘เมื่อก่อนเราทั้งหลายพยายามอยู่ ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ปฏิบัติโดยไม่ชอบแล้ว’
    ความหมายมั่นที่นับว่าความทะเลาะกันในบัดนี้เหล่านี้ ย่อมสงบจากสำนักบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นๆ
    คือเพราะอาศัยบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.”

ในกาลจบคาถา ภิกษุผู้ประชุมกันได้ดำรงอยู่ในอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี จบ.